อาหารกลางวันของนักเรียน

ประธาน กมว.แนะเพิ่มค่าอาหารกลางวันแบบผกผัน

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างคำนวณอัตราเงินอุดหนุนในโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนใหม่ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น แม้ในปี 2564 ครม.จะมีมติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1-ป.6 เป็น 21 บาท/คน/วัน แต่อัตราดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยได้รับผลกระทบมาก มองว่าเมื่อ ศธ.คิดปรับเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันใหม่ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เปลี่ยนหลักการให้เงินอุดหนุนรายหัวใหม่

เพราะที่ผ่านมาปรับเพิ่มในรูปแบบทุกคนได้เงินอุดหนุนเท่ากันหมด ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะเมื่อมีจำนวนเด็กน้อยก็จะได้รับเงินอุดหนุนน้อย ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนมาก จะได้รับเงินอุดหนุนมากตามไปด้วย ซึ่งบางโรงเรียนใช้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันไปพัฒนาโรงเรียนด้านอื่นๆ ได้

รศ.ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ศธ.ควรเปลี่ยนหลักคิดในการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ให้เป็นการจ่ายในลักษณะผกผัน คือดูจากจำนวนนักเรียน ให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยได้รับเงินอุดหนุนรายหัวที่มาก ในขณะที่โรงเรียนที่มีนักเรียนมากได้รับเงินอุดหนุนในอัตราที่ผกผันลดหลั่นกันไป เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 300 คน ควรได้รับเงินอุดหนุน 25 บาท/คน/วัน ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียน 500 คนขึ้นไป ควรได้รับเงินอุดหนุน 22 บาท/คน/วัน เป็นต้น

ซึ่งการคิดในลักษณะผกผันนี้จะทำให้รัฐจ่ายเงินเท่าเดิม และทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณที่เพียงพอ สามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการให้กับนักเรียนได้

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์

“อีกวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาอาหารกลางวันในโรงเรียนขนาดเล็ก คือให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยให้คนในชุมชนเข้ามาทำอาหารส่งโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ จะทำให้เด็กได้รับอาหารกลางวันอย่างเพียงพอ เพราะแชร์ทรัพยากรร่วมกัน โรงเรียนไม่ต้องดูแลเอง และทำให้ชุมชนมีรายได้ด้วย หากกังวลเรื่องหลักโภชนาการอาจให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มาดูแลคุณภาพและคุมโภชนาการ” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว

ว่าที่ ร.ท.สุเวศ กลับศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครศรีธรรมราช เขต 4 กล่าวว่า เป็นเรื่องดี ที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน 21 บาท/คน/วัน โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเด็กมากสามารถบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็ก 20-30 คน อาจได้รับความลำบากในการบริหารจัดการบ้าง

ทั้งนี้ ขอบคุณ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ เชื่อว่าถ้าเด็กได้รับอาหารที่ดี ถูกหลักโภชนาการ จะทำให้ร่างการสมบูรณ์ มีสติปัญญาที่ดี ส่งผลต่อการเรียนรู้

“ควรเพิ่มอย่างน้อย 30 บาท/คน/วัน เพราะปัจจุบันราคาสินค้าสูงอย่างมาก บางโรงเรียนสะท้อนว่าการจัดอาหารที่ต้องมีกับข้าว 2 อย่าง ยังบริหารจัดการลำบาก โรงเรียนต้องหาผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารให้นักเรียนได้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ” ว่าที่ ร.ท.สุเวศกล่าว

ว่าที่ ร.ต.ทวีศักดิ์ นามศรี ผู้อำนวยการ สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียน เพราะช่วงที่ดีที่สุดของการพัฒนาของเด็กคือตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญเด็กวัยนี้ในทุกด้าน จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นวัยทองในการพัฒนา เรียนรู้ และหลอมรวมด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา พร้อมที่จะเข้าเรียนในระดับชั้นต่อๆ ไป

“ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่เห็นความสำคัญและผลักดันเรื่องนี้ ถ้าโรงเรียนทุกโรงเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันอย่างเท่าเทียมกันจะทำให้เด็กได้รับการโภชนาการที่ดี ทำให้สมองดี พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา ส่วนควรจะเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนเป็นเท่าไหร่นั้นมองว่าจะเพิ่มเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้เพียงพอและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ว่าที่ ร.ต.ทวีศักดิ์กล่าว

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ qiball-chiba.com

UFA Slot

Releated